Our Blog

Read the Latest News
 
การจัดการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ การสื่อสารระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ เราจัดการศึกษากันเป็นระบบเพื่อที่จะสามารถเรียนรู้กันครั้งละหลายๆ คนเพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร จึงมาสุมหัวกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยกันทุกวันนี้ ดังนั้นจำนวนนักศึกษาย่อมมีมากกว่าจำนวนอาจารย์ และอาจารย์หนึ่งคนต้องสื่อสารกับนักศึกษาหลายคนเป็นแน่แท้
ช่องทางการติดต่อสื่อสารมีหลายหลาก ที่นิยมกันในปัจจุบันได้แก่ การสื่อสารแบบกลุ่มเรียนในชั้น การสนทนาตัวต่อตัว การสนทนาทางโทรศัพท์ การสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารข้อความผ่านไลน์และเฟสบุค
ผมเขียนข้อความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกศิษย์ของผมอ่าน โดยหวังว่าจะสามารถลดความหงุดหงิดตามอัตตาของผมในการสื่อสารระหว่าง ผม-กับ-คุณ ลงได้
แนวทางการสนทนาส่วนบุคคลและคุยโทรศัพท์
1. ให้แจ้งแนะนำตัวเองก่อนโดยการแจ้งชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นใครมาจากไหน โดยเฉพาะการคุยทางโทรศัพท์ วันๆ ผมเจอคนเยอะมากและนิสัยไม่ดีคือจำใครไม่ค่อยจะได้ บางทีกว่าจะจำชื่อลูกศิษย์ได้เป็นปี อีกอย่างหลังสองทุ่มไม่ต้องโทรมาถ้าไม่ใช่เรื่องวิกฤต เช่น ให้ไปประกันตัวออกจากโรงพัก เป็นต้น
2. บอกจุดประสงค์ในการสนทนาและความต้องการของท่านมา อันนี้สำคัญครับ ผมพบว่านักศึกษามักจะเริ่มบทสนทนาว่า อาจารย์ว่างวันไหนบ้าง อาจารย์อยู่ที่ไหน อาทิตย์หน้าอาจารย์เข้ามาทำงานไหม พรุ่งนี้อาจารย์อยู่กี่โมง พวกคำถามเหล่านี้มันแทงใจดำอาจารย์ขี้เกียจๆ และไม่ค่อยทำงาน เอาใหม่ครับ... ท่านประสงค์อะไร ต้องการอะไร จะได้จัดการให้ นัดให้
3. เวลานัดแล้วมาให้ตรงเวลา ถึงเวลาแล้วก็ขอมาเข้าพบเลย หลายหนพอถึงเวลาแล้ว ผมรออยู่ ก็มาด้อมๆ มองๆ ไม่ยอมเข้ามาสักที ผ่านชั่วโมงหนึ่งผมก็ถามว่าตกลงจะคุยกันไหม
แนวทางการสื่อสารทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
1. มี Subject มี คำขึ้นต้น เช่น เรียน ...., มีคำลงท้าย เช่น ขอแสดงความนับถือ, มีการลงนาม ชื่อสกุล ปิด
2. มีเนื้อหา เช่น ถ้าขอให้ส่งเอกสารกัน ก็ตอบว่า “เอกสารที่อาจารย์ขอ อยู่ตามแนบครับ” ไม่ใช่แนบไฟล์ปล่าวๆ มา อีกอย่างเวลาส่งไฟล์ข้อมูลก็ตั้งชื่อไฟล์ให้มันสื่อกับของข้างในหน่อย ผมไม่อยากได้ไฟล์ชื่อ untitle5.xxx มีเยอะแล้วครับ
3. เอกสารที่แลกเปลี่ยนกันส่วนใหญ่แล้วเราจะส่งกัน เป็น pdf เว้นเสียแต่จะตกลงกันเป็นอื่น ผมไม่อ่าน word, ppt, visio ผมใช้ apple และไม่ต้อง rar หรือ zip มา ขี้เกียจเปิด
4. อีเมล์ ของพวกคุณ ให้ใช้ชื่อให้มันสื่อถึงตัวตนของคุณหน่อยครับ ไม่ใช่อ่านอีเมล์แลัวเป็นชื่อการ์ตูนญี่ปุ่น เกาหลี เราทำงานกันเป็นเรื่องของโลกความเป็นจริงมิได้อยู่ในโลก Cyber ไปสมัครใหม่เป็น ชื่อ.สกุล หรือ สกุล.ชื่อ ไม่ต้องยาวมากก็แล้วแต่จะโปรด ใครยังไม่ได้ทำ ไปทำซะครับ
แนวทางการสื่อสารทางไลน์และเฟสบุค
1. ให้แจ้งแนะนำตัวเองก่อนแบบสั้น และบอกความประสงค์มา
2. ใช้คำให้เป็นทางการบ้างจะขอบคุณ พวกศัพท์เช่น อ่ะ, ปังมาก, ครัช, ข่า, ล้าว ไว้ใช้กับเพื่อน ผมเป็นอาจารย์โบราณขอดึงภาษาไทยไม่ให้เปลี่ยนเร็วหน่อยรึกันครับ
3. ได้ความอย่างไรแล้ว ช่วยบอกหน่อยว่าจบการสนทนาแล้ว จะได้จากกันด้วยดี
ขอแสดงความนับถือ
วรา วราวิทย์

ความหมายของโปรเซสในทางคอมพิวเตอร์นั้น มีสองความหมาย ได้แก่ 1. ใช้ในความหมายของกระบวนการ หรือขั้นตอนวิธีการ และ 2. หมายถึงโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่ ถ้าถามดูว่าโปรเซสแปลว่าอะไรนั้น ส่วนใหญ่จะได้ความหมายแรกเป็นคำตอบ. โปรแกรมคือลำดับของคำสั่งที่มาเรียงร้อยกันให้ทำงานตามจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่งที่เป็นเฉพาะ พอเรียกมาทำงานโดยสร้างสภาพแวดล้อมในคอมพิวเตอร์ให้โปรแกรมเริ่มทำงาน มีหน่วยความจำ และเตรียมรับอินพุทต่างๆ โปรเซสก็ถูกสร้างขึ้น ประหนึ่งว่าเราอยากทำอาหาร ตำราอาหารก็เป็นโปรแกรม ถ้าเราเริ่มเข้าครัวทำอาหารเก็เกิดโปรเซสขึ้นมา อีกตัวอย่างหนึ่ง มนุษย์เราก็มีโปรแกรมคือดีเอ็นเอ พอเกิดปฏิสนธิเริ่มสร้างฮาร์ดแวร์ พอปัจจัยทั้งหลายเกิดพร้อมก็อุแว้ออกมาเป็นโปรเซสให้เกิดทุกข์กันต่อไป ในคอมพิวเตอร์นั้นเราจะสามารถเห็นโปรแซสได้จากคำสั่ง ps หรือดูการแสดงผลของ Task Manager ที่จะแสดงว่ามีโปรเซสอะไรทำงานอยู่บ้าง

จากความหมายของโปรเซสที่อธิบายไปขั้นตอน ระบบปฏิบัติการในปัจจุบันสามารถสร้างสภาวะแวดล้อมให้หลายๆ โปรเซสทำงานพร้อมๆ กันได้ หรือจัดการทำงานประหนึ่งว่าหลายๆ โปรเซสทำงานพร้อมกันอยู่ การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนก็เริ่มต้องการการติดต่อสื่อสารกันระหว่างโปรเซสที่เรียกว่า Inter-process Communications หรือการสื่อสารระหว่างโปรเซส โดยที่ลักษณะการสื่อสารดังกล่าวมีทั้งระหว่างโปรเซสในเครื่องเดียวกัน และโปรเซสที่อยู่คนละเครื่องกันที่ต่อเชื่อมผ่านเครือข่าย การเขียนโปรแกรมในการสื่อสารระหว่างโปรเซสนั้นมีความซับซ้อนพอควร ในทางปฏิบัติจึงมีการเขียนไลบารี่ออกมาจะได้เอื้อต่อการพัฒนาโปรแกรมให้ง่ายขึ้น การเรียกใช้งานไลบารี่นั้นทำผ่านความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้เขียนโปรแกรมและผู้พัฒนาไลบารี ผ่านตัวเชื่อมที่เรียกว่า Application Programming Interfaces (APIs ) หรือเรียกว่าเอพีไอ การเรียกใช้เอพีไอนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่การเรียกใช้ฟังก์ชั่น จนกระทั่งเรียกใช้บริการในลักษณะซับซ้อนต่างๆ ที่เปิดให้บริการหลายกหลายในปัจจุบัน

การสื่อสารระหว่างโปรเซสเป็นบริการหนึ่งของระบบปฏิบัติการ ตัวอย่างพื้นฐานของสื่อสารระหว่างโปรเซสได้แก่ pipe และ socket ที่ผู้เขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้งานช่องทางการสื่อสารระหว่างโปรเซสในเครื่องเดียวกันและผ่านเครือข่ายได้, ตามลำดับ เมื่อการเขียนโปรแกรมที่มีการสื่อสารระหว่างโปรเซสมากยี่งขึ่น ก็มีการพัฒนาลักษณะวิธีการติดต่อสื่อสารแบบต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการบริการเว็ปที่ผ่านโปรโตคอล http ที่มีการใช้งานที่หลายหลายและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก การสื่อสารระหว่างโปรเซสได้อาศัยช่องทางการสื่อสารในรูปแบบของการบริการเว็ป ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เราเรียกว่า เว็ปเซอร์วิส การสื่อสารระหว่างโปรเซสแบบเว็ปเซอร์วิสนั้นเป็นรูปแบบของการบริการข้อมูล ที่ทำผ่านบริการเว็ปบนโปรโตคอล http ทำให้ลดปัญหาด้านการเปิดปิดบริการจากข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยไปได้มาก เนื่องจากผู้ใช้งานโดยทั่วไปมีความต้องการใช้งานเว็ปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เว็ปเซอร์วิสจึงอาศัยช่วงทางดังกล่าวในการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ได้แก่ความเข้าใจสับสนระหว่างเว็ปเซอร์วิสกับเว็ปแอพพลิเคชั่น ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อธิบายยากจริงๆ

พอเราพูดถึง เว็ปเซอร์วิส ก็จะนึกถึง SOAP กับ REST. SOAP ถูกออกแบบเพื่อพัฒนาระบบบริการข้อมูลในรูปแบบของสถาปัตยกรรมบริการ (Service Oriented Architecture, SOA) ซึ่งก่อนหน้าการพัฒนา SOAP นั้น มีความพยายามที่จะสร้างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจนระหว่างโปรเซส เช่น RPC, CORBA, RMI, XML-RPC, DCOM เป็นต้น ที่การสื่อสารระหว่างโปรเซสในช่วงเริ่มแรกมีการออกแบบโปรโตคอลที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้กับผู้รับบริการ เฉพาะสำหรับการบริการแลกเปลี่ยนข้อมูล การออกแบบระบบการสื่อสารที่เป็นเฉพาะดังกล่าวสร้างความซับซ้อนกับการขยายการใช้งานในวงกว้าง. SOAP แก้ปัญหาดังกล่าวโดยพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทำงานบน http และ XML. SOAP มีกลไกสำหรับการสร้างวิธีการเชื่อมต่อระหว่างภาษาต่างๆ โดยอัตโนมัติ โดยเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมจะสามารถอ่านคำอธิบายบริการเว็ปเซอร์วิสของ SOAP ผ่านภาษากลางที่ชื่อว่า WSDL (Web Services Descriptor Langulage) โดย WSDL ถูกเขียนอยู่ในรูปแบบของ XML (Extensible Markup Language) ที่อธิบายการบริการข้อมูลของเว็ปเซอร์วิส

กลไกดังกล่าวได้ซ่อนความซับซ้อนของการสื่อสารระหว่างโปรเซส โดยการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างภาษา ที่สามารถแปลง WSDL ให้เชื่อมต่อการเรียกใช้งานขั้นตอนการทำงานและความแตกต่างของโครงสร้างข้อมูลในระบบที่ต่างๆกันได้ การออกแบบในลักษณะนี้ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์จากส่วนประกอบที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม SOAP มีความซับซ้อนในการใช้งานมาก ถึงแม้จะเป็นชื่อย่อของ "Simple" Object Access Protocol ก็ตาม

ที่นับว่าเป็นคู่แข่งของ SOAP ในการสื่อสารระหว่างโปรเซสได้แก่ REST อันว่าจะเป็นอย่างไร ขอต่อคราหน้ารึกันนะครับ

รศ.ดร.วรา วราวิทย์

การเตรียมตัวสอบระดับเทพ<- Note อ. วรา

ช่วงนี้เป็นช่วงสอบปลายภาค เหล่านิสิตนักศึกษาคร่ำเคร่งกับการสอบ เมื่อเรียนผ่านมาสามสี่เดือนแล้วก็มาสอบกัน พอนึกถึงเรื่องสอบทีความเครียดก็สูบฉีดขึ้นทันที เป็นอย่างนี้กันหลายคน การสอบเป็นการประเมินผลสำริดการเรียนรู้ที่ผ่านมา การศึกษาในสารขัณฑ์ เป็นแบบเรียนง่ายสอบยาก เรียนง่าย คือ เรียนๆ หลับๆ เข้าบ้างไม่เข้าบ้างทั้งนักเรียนและอาจารย์ การบ้านงานทั้งหลายก็ไม่มีมากนัก ทำงานส่งก็ลอกๆ กันไปนะครับ การจะรักษาคุณภาพการศึกษาได้เราจึงต้องสอบยากๆ ออกข้อสอบให้ยาก และเยอะเข้าไว้ทำให้นักศึกษาต้องเตรียมการสอบเป็นอย่างดีเพื่อแสดงถึงความรู้ที่มีในการผ่านระดับการศึกษา การศึกษาที่อื่นหลายๆ ที่เขาเรียนยากสอบง่ายกัน การเรียนยากสอบง่ายนั้น การบ้านกองพะเนิน ทำกันทั้งวันทั้งคืน ยากมหาโหด ยังนึกว่าทำไมถึงยากอย่างนั้น หามาจากไหนกัน พอตอนสอบก็ถามพื้นฐานนิดๆ หน่อย เหมือนพอเป็นพิธี ไม่รู้เพราะว่าทำการบ้านยากเสียพรุนแล้ว หรือ ง่ายจริงๆ

ผู้เขียนนั้นนับว่ามีความชำนาญในการสอบจริง เพราะสอบมาถึงสามสิบปี เรียนก็ไม่ค่อยเอาไหน และที่สำคัญไม่ค่อยตั้งใจเรียน ถึงวันนี้ยังแปลกใจว่าเราจัดการเรียนการสอนกันไปทำไม ใครจะนั่งเรียนรู้เรื่อง อ่านมาก็ไม่ได้อ่านมาก่อน เรื่องที่เรียนก็ยาก นั่งฟังแป็บเดียว จะรู้สึกมึนงง ไปฝันกลางวันดีกว่า... ส่วนการสอบนั้น ไม่รู้เป็นอะไร เอาตัวรอดมาได้เรื่อยๆ สอบมานานเข้าก็ชักเก่งขึ้นมาก นับว่าเป็นนักสอบอาชีพได้คนเหนึ่ง

จากการที่เป็นนักสอบอาชีพ ผมพบว่า ความพยายามในการศึกษาและการสอบ กับผลคะแนนที่ได้ มีความสัมพันธ์กัน ตามแผนภาพที่แสดงข้างล่าง ขณะที่เราศึกษาและเตรียมสอบ คะแนน หรือเกรดที่เราได้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีความรู้พอควร เราก็จะสามารถได้เกรดเอ ในเฮือกแรก ที่เป็นจุดที่คุ้มมาก คือเตรียมตัวพอดีพอดี ได้เอ พอดีพอดี หลังจากจุดนี้แล้ว คะแนนอาจจะตกลงมา เพราะว่ารู้มากไป แต่รู้ไม่จริงเกิดการธาตุไฟเข้าแทรกได้ง่าย เกิดสับสนปนเป ในความรู้ ที่ซึ่งอาจส่งผลให้เกรดตกมาในระดับ บี ถ้าเกิดเตรียมตัวเกินมาอย่างนี้นับว่าเกิดปัญหา ต้องตะลุยไปให้ผ่านเป็นระดับเทพ จะได้ เอ ไปเลย ชัวร์ ระดับเทพอย่างผมต้องจัดให้ได้เอ แบบ พอดีพอดี

จากตอนเด็กๆ สอบตกๆ หล่นๆ เพราะไม่รู้ว่าก่อนสอบต้องอ่านหนังสือ... ฮ่า ฮ่า... อ่านหนังสือแล้วก็ยังสอบไม่ค่อยจะดี เพราะไม่รู้ว่าต้อง ทำแบบฝึกหัดฝึกซ้อมฝีมือการทำข้อสอบ ทำแบบฝึกหัดบ้างแล้วก็ยังได้คะแนนไม่ดี เพราะว่าทำแบบฝึกหัดไม่หมดทุกข้อ ทำแบบฝึกหัดหมดทุกข้อแล้วก็ยังไม่เจ๋ง เพราะนอนไม่พอ นอนพอแล้วก็ยังไม่ได้เต็มเพราะ ไม่ได้ไหว้ครูก่อนสอบ การสอบที่ดีนั้น มีองค์ประกอบสำคัญสามประการ ได้แก่ 1. เตรียมตัวดี, 2. พักผ่อนเพียงพอ, และ 3. มีสมาธิที่ดีระหว่างสอบ

จากประสบการณ์นั้น มีหลายวิชาที่ผมเรียนแล้ว พอถึงปลายภาคก็รู้สึกสะดุ้ง และมีเหงื่อกาฬไหลออกมาหยดดังติ๋ง เพราะมองย้อนกลับไปสงสัยว่าวิชานี้เรียนอะไรหว่า อย่างนี้ต้องเริ่มจากไถดะ และไถพรวน จัดเตรียมผานไถต่างๆ ให้เรียบร้อย ได้แก่ หนังสือเรียน สมุดจดต่างๆ สไลด์ของอาจารย์ และการบ้านต่างๆ ไถดะคืออ่านตะลุยสไลด์ของอาจารย์ ทีละส่วน ตามด้วยอ่านหนังสือเรียนอย่างละเอียดเรียกว่าไถพรวน จำไว้ว่า เราจะได้คะแนนดีไม่ได้จากการอ่านสไลด์ของอาจารย์ แต่ไม่อ่านหนังสือ อีกทั้ง เราจะได้คะแนนดีไม่ได้จากการอ่านหนังสือ แต่ไม่ทำแบบฝึกหัด

หลังจากอ่านหนังสือแล้วก็เลือกทำแบบฝึกหัด เริ่มจากการทำตามการบ้านก่อน แล้วค่อยเลือกข้อที่น่าทำมาจัดการ "โซ้ย" ให้เสร็จสิ้น ขั้นตอนกระบวนการนี้สามารถทำร่วมกันเป็นกลุ่มได้ โดยแบ่งเพื่อนๆ ช่วยกันคนละสี่ห้าข้อ จากนั้นเริ่มช่วยกันทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตามในขั้นตอนนี้ ขอให้ท่านผู้เตรียมการสอบได้ผ่านการทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง โดยมีการเขียนลงกระดาษในการทำแบบฝึกหัด หรือเขียนฉบับเต็มในขณะที่ดูแนวทางจากการทำแบบฝึกหัดที่คนอื่นทำไว้ เสร็จแล้วเขียนสรุปไว้ก็จะดี สำหรับวิชาที่มีการสอบปิดตำรา อย่าพกเข้าไปเชียว อาจทำลายชีวิตของท่านได้

ช่วงเวลาอายุไม่มากนัก ฮอร์โมนหลั่งดี นอนน้อย นอนมากก็สามารถจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขพอควร เหล่าบรรดา นักศึกษาทั้งหลายส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้นอนหลับกันมากนักก่อนการสอบ ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ในการทำการสอบให้ได้ดี ผมถือหลักว่าต้องนอนก่อนเที่ยงคืน ก่อนการสอบใดๆ บางครั้งนอนไม่หลับ ก็ให้ไปนอนหลับตาเฉยๆ เอาบนเตียง พอจะพักผ่อนได้บ้างระดับหนึ่ง บางครั้งเตรียมตัวไม่ทันก็ต้องตัดใจ นอน นอนซะ ตอนเช้าก็ตั้งนาฬิกาปลุกเสียงดังเอาไว้ให้เรียบร้อย

พอเช้ามากินข้าวเรียบร้อยก็ เตรียมอุปกรณ์ เครื่องเขียน เครื่องคิดเลข บัตรต่างๆ ให้เรียบร้อย บางครั้งความเครียดโจมตีถ่ายหนักถ่ายเบาไม่ออก ก็ไม่่ว่ากัน มีเพื่อนผมคนหนึ่ง ก่อนสอบต้องไปเข้าห้องนำ้ก่อนทุกครั้ง หน้า ซีดเซียวไปตามกัน เข้าไปนั่งในห้องสอบ อย่าพึ่งอ่านข้อสอบทันทีทันใด ให้ หายใจลึกๆ และ ไหว้ครูก่อน ระลึกจากพระคุณพ่อแม่ ครูอนุบาล ครูประถม มัธยม ไล่มาถึงปัจจุบัน จากนั้นก็เขียนชื่อเสียงเรียงนามตัวเอง และ เริ่มทำข้อสอบ เวลาทำข้อสอบนั้น ส่วนตัวผมเองจะไม่ตรวจทาน นั้น หมายถึงตั้งใจไว้เลยว่าจะทำให้ถูกแต่แรก ไม่หวนกลับมาทำใหม่อีก และการทำก็จะทำเรียงข้อไป ทีละข้อ ไล่เรียงไป เพราะถ้าทำย้อนไป ย้อน มา บางครั้งเกิดลุกลี้ลุกลน ทำผิดได้มาก จะนึกว่า "เฮ้ย อันนั้น ทำอย่างนั้นหรือปล่าววะ อันนี้ผิดหรือปล่าว พาลลงเหวกันไปหมด" ยิ่งพวกข้อสอบแบบปรนัย ส่วนใหญ่แล้วข้อตัดสินใจครั้งแรกถูกมากกว่าการตรวจทาน

สรุปสุดท้ายนั้น การบริหารความเครียดเป็นสิ่งสำคัญระหว่างการสอบ และมีคาถามอบให้ดังนี้คือ 1) ระฆังยังไม่ตี ไม่หมดยก สู้ต่อ 2) ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ แล้วไงล่ะ และ 3) สอบไม่ได้ ไม่มีใครเคยตาย...

โชคดีในการสอบทุกคนครับ

 

 

กฎหมายการศึกษา

กฎหมายและบริบทที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่หลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 80(3) ได้เน้นเรื่องมาตรฐานและการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา โดยมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการเลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  การจัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ การมีกฏหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

 

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

  • วิศวกร [วิดสะวะกอน] น. ผู้ประกอบงานวิศวกรรม.
  • วิศวกรรม [วิดสะวะกํา] น. การนําความรู้ทาง    คณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมา    ประยุกต์ใช้.
  • วิศวกรรมศาสตร์ [วิดสะวะกํามะสาด] น. วิชาที่    เกี่ยวกับการนํา ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์ใช้

 

Login

Who's Online

We have 3 guests and no members online